เกี่ยวกับสำนักงาน

  ประวัติความเป็นมา

บางปะกง เป็นชื่อ “บาง” บางหนึ่งบนผืนแผ่นดินไทยมาแต่สมัยโบราณกาลอดีตที่แท้จริงของบางปะกงจะมีมาช้านานขนาดไหน ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการพัฒนาของชุมชนนี้ตั้งแต่ยุคแรกๆ แต่ชื่อ บางปะกง นั้น ปรากฎขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปลายแผ่นดิน สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ 1 ในนิราศเมืองแกลงที่ท่านมหากวีเอกสุนทรภู่แต่งไว้ เมื่อ พ.ศ. 2350 มีความว่า
    ถึงหย่อมย่านบ้านบางมังกรนั้น                 ดุเรียงรันเรือนเรียบชลาสินธุ์
แต่ล้วนบ้านตากปลาริมวาริน                          เหม็นแต่กลิ่นคาวอบตลบไป
เห็นศาลเจ้าเหล่าเจ๊กเซ็งแซ่                           ปูนทะก๋งองค์แก่ข้างเพลไพล
เกเลเอ๋ยเคยข้างคงคาลัย                               ช่วยคุ้มภัยปากอ่าวเถิดเจ้านาย
 
                   แสดงว่าชุมชนย่านบางปะกงจะต้องมีมาก่อนแผ่นดินรัชกาลที่ 1 นานแล้ว แต่ไม่รู้ว่านานแค่ไหน แต่เดิมบางปะกงมีชื่อเรียกว่า “บางปลากง” แต่ชื่อที่ปรากฏอยู่ในนิราศว่า “บางมังกร” นั้นเห็นจะเป็นชื่อที่ชาวจีนใช้เรียกชุมชนย่านนี้ตลอดทั้งแม่น้ำสายนี้ แต่จะมีความหมายอย่างไรนั้น ดูตามคำอธิบายของท่านอาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในหนังสือ “ชีวิตและงานของสุนทรภู่” ว่า บ้านบางมังกร นั้น แปลไม่ได้ความกระไร บางทีจะย่อสั้นมาแต่ บางปลา (มัง) กง ก็เป็นได้
                   นี่เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับชื่อของบางนี้ ที่ได้ใช้ชื่อของปลามาตั้งแต่ชื่อบางและชื่อแม่น้ำเหมือนที่จังหวัดชลบุรี มีปลาสร้อยมาก ก็เรียกกันว่า “บางปลาสร้อย” ที่จังหวัดสมุทรปราการ มีปลากดมาก ก็เรียกกันว่า “บางปลากด” แต่อันที่จริงแล้วปลาที่มีอยู่ชุกชุมในแม่น้ำสายนี้ คือ “ปลาอีกง” มิใช่มังกร ตามที่อาจารย์ธนอต อยู่โพธิ์ เข้าใจ แต่ก็ได้อธิบายใจความละเอียดพอที่จะสืบสาวไปถึงบางปลากงให้แน่นอนและถนัดชัดเจนยิ่งขึ้น
                   ปลาอีกงเป็นปลาที่มีลักษณะคล้ายกับปลาแขยง แต่ตัวดำกว่า ท้องขาวเล็กน้อยเป็นปลาที่ช่วยรักษาความสะอาดดีมาก เวลาน้ำขึ้นจะหาอาหาตามชายฝั่ง อยู่กันเป็นฝูงใหญ่ๆ จะแลเห็นเป็นแถวเป็นแนวยาวไปจนตลอดริมฝั่ง เมื่อทิ้งเศษอาหารลงไปในแม่น้ำปลาอีกงจะจัดการเรียบไม่มีเหลือนั้นสมัยก่อนนั้นส้วมซึมยังไม่เป็นที่นิยมของชาวบ้านนี้นักก็มักจะทำเป็นที่ปลดทุกข์ที่ปลายสะพานกันแทบทุกบ้าน โดยทำเป็นแบบไม่มีหลังคา เมื่อเวลานั่งแล้วจะเห็นหน้ากันเป็นของธรรมดา สิ่งปฏิกูลที่ส่งมายังแม่น้ำนั้นก็ได้ปลาอีกงเหล่านี้เป็นพนักงานทำความสะอาดไม่ให้เหลือซากให้รกหูรกตาแม้แต่นิดเดียว
                   ปลาชนิดนี้ไม่พบว่ามีอยู่ในแม่น้ำสายอื่นๆ นอกจากแม่น้ำสายนี้เท่านั้น จึงเป็นเหตุให้ปลาอีกงขยับตัวเองจากปลาตัวน้อย มาเป็นชื่อของบางบางนี้ และแม่น้ำสายนี้
                   บางอีกง แม่น้ำบางอีกง ก็ได้เกิดเป็นชื่อใช้เรียกกันขึ้นมาด้วยระยะเวลาอันยาวนานคำว่า “บางปลาอีกง” ก็ห้วนสั้นเข้าเพราะว่ายากนัก ตัดคำว่า “อี” ออกเหลือแต่คำว่า “บางปลากง” ต่อมาเรียกไปเรียกมาก็สั้นเข้าอีกกลายเป็น “บางปะกง” ไปในที่สุด แต่ที่ท่านมหากวีเอกเรียกชื่อว่า บางมังกร นั้นเป็นเพราะเหตุที่ว่าท่านมาแวะจอดเรือที่บ้านบางปะกงล่าง ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคนจีนที่พูดไทยไม่ชัด เมื่อท่านถามว่าบ้านนี้เรียกว่าอะไร คนจีนเหล่านั้นก็ตอบไปตามภาษาพูดไม่ชัดเจนว่า “บางมังกร” หรือ “มั่งกากง” ซึ่งแท้จริงแล้วมาจากคำว่า “บางปลากง”   นั้นเอง

สภาพพื้นฐานทางกายภาพ

ที่ตั้งและอาณาเขต อำเภอบางปะกงเป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน 11 อำเภอ ของจังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ทางทิศใต้ของจังหวัด ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 22 กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 70 กิโลเมตร ถือเป็นประตูเข้าเขต ภาคตะวันออก หรือโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด

                   เนื้อที่ อำเภอบางปะกงมีเนื้อที่ประมาณ 257.893 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 161,183 ไร่ มีพื้นที่ติดกับทะเลยาวประมาณ 12.2 กิโลเมตร

แผนที่แสดงจังหวัดฉะเชิงเทราแสดงที่ตั้งอำเภอบางปะกง

                   อาณาเขตติดต่อ  อำเภอบางปะกงมีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอต่างๆ ดังนี้

                   ทิศเหนือ                 ติดต่อกับ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

                 ทิศตะวันออก          ติดต่อกับ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี

                  ทิศใต้                   ติดต่อกับ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอเมืองจังหวัดชลบุรี และอ่าวไทย

                   ทิศตะวันตก          ติดต่อกับ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

แผนที่อำเภอบางปะกง แสดงอาณาเขตและการแบ่งตำบล

การแบ่งเขตการปกครอง แบ่งการปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่
พ.ศ. 2457 เป็น 12 ตำบล 108 หมู่บ้าน ดังนี้

  • ตำบลท่าสะอ้าน           มี 8 หมู่บ้าน
  • ตำบลบางปะกง            มี 19 หมู่บ้าน
  • ตำบลท่าข้าม               มี 8 หมู่บ้าน
  • ตำบลบางวัว               มี 14 หมู่บ้าน
  • ตำบลบางสมัคร          มี 9 หมู่บ้าน
  • ตำบลสองคลอง         มี 10 หมู่บ้าน
  • ตำบลบางเกลือ          มี 7 หมู่บ้าน
  • ตำบลหอมศีล            มี 6 หมู่บ้าน
  • ตำบลพิมพา              มี 4 หมู่บ้าน
  • ตำบลหนองจอก       มี 9 หมู่บ้าน
  • ตำบลบางผึ้ง            มี 7 หมู่บ้าน
  • ตำบลเขาดิน มี 7 หมู่บ้าน

อำเภอบางปะกง ได้แบ่งการปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งเป็น

เทศบาลตำบล 10 แห่ง คือ

  1. เทศบาลบางวัว
  2. เทศบาลบางวัวคณารักษ์
  3. เทศบาลตำบลท่าข้าม
  4. เทศบาลตำบลบางปะกง
  5. เทศบาลตำบลท่าสะอ้าน
  6. เทศบาลตำบลบางผึ้ง
  7. เทศบาลตำบลหอมศีล
  8. เทศบาลตำบลพิมพา
  9. เทศบาลบางปะกงพรหมเทพรังสรรค์
  10. เทศบาลตำบลบางสมัคร

องค์การบริหารส่วนตำบล 6 แห่ง คือ

  1. องค์การบริหารส่วนตำบลท่าสะอ้าน
  2. องค์การบริหารส่วนตำบลสองคลอง
  3. องค์การบริหารส่วนตำบลบางเกลือ
  4. องค์การบริหารส่วนตำบลหอมศีล
  5. องค์การบริหารส่วนตำบลหนองจอก
  6. องค์การบริหารส่วนตำบลเขาดิน

สำนักงานเกษตรอำเภอบางปะกง เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีภารกิจ กำกับดูแลถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิต การจัดการผลผลิต พัฒนาเกษตรกร องค์กรเกษตรกร วิสาหกิจเกษตรของชุมชน ตลอดจนความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรในเขตพื้นที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นอู่ข้าว อู่น้ำที่สำคัญ แหล่งหนึ่งของประเทศอันอุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาตินานาชนิด ทั้งด้านพืช สัตว์ และการประมง โดยมีแม่น้ำบางปะกงซึ่งเปรียบเสมือนสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตให้แก่ประชากรในพื้นที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

2 Trackbacks / Pingbacks

  1. Top 13 อบ ต สอง คลอง - Thư Viện Hỏi Đáp
  2. Top 17 อำเภอ บางปะกง - Phần mềm Portable

Comments are closed.