สำนักงานเกษตรอำเภอราชสาส์น

70 หมู่ 2 ต.บางคา อ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา 24120

กาแฟอะราบิกาบนพื้นที่สูงกับการพัฒนาแบบ BCG

นายสายันต์ กมลคร
เกษตรอำเภอราชสาส์น

นายสายันต์ กมลคร

เกษตรอำเภอราชสาส์น

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับอำเภอ

หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ระบบการทำงาน DOAE

ระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง DOAE

กาแฟอะราบิกาเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของชุมชนบนพื้นที่สูง เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ในหลายชุมชนเกิดการรวมกลุ่มและสร้างความเข้มแข็งในการผลิตกาแฟให้เติบโตและเป็นที่รู้จักในระดับประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ การปลูกกาแฟยังช่วยสร้างระบบนิเวศน์ป่าไม้บนพื้นที่สูง โดยการปลูกร่วมกับไม้ผลเมืองหนาว และการปลูกภายใต้ร่มเงาป่าธรรมชาติ โดยทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีการส่งเสริมเกษตรกรบนพื้นที่สูงให้ปลูกกาแฟอะราบิกาเพื่อสร้างรายได้และทดแทนพืชเสพติด โดยใช้การปลูกในรูปแบบการปลูกภายใต้ร่มเงาไม้ป่าท้องถิ่น และเสริมด้วยไม้ผล เนื่องจากการปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงา ทำให้ได้คุณภาพของเมล็ด ทั้งในด้านของขนาดเมล็ดกาแฟ และรสชาติการชิมที่ดีกว่าการปลูกในรูปแบบอื่น ๆ เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว นอกจากนี้ สวพส. ยังคำนึงถึงการส่งเสริมการผลิตและแปรรูปผลผลิตกาแฟของชุมชนบนพื้นที่สูงที่สอดคล้องกับการพัฒนาของ BCG model ด้วย 

B (Bio Economy) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ การปลูกกาแฟ นอกจากเกษตรกรจะมีรายได้โดยตรงจากการผลิตผลกาแฟแล้ว การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกาแฟ ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือใหม่ ทำให้การผลิตกาแฟมีประสิทธิภาพ และคุณภาพสูงขึ้น หรือการเพิ่มมูลค่าของระบบการปลูกกาแฟด้วยการตระหนักถึงการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นกาแฟ ที่ช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อการลดภาวะโลกร้อน เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น สัตว์ป่า เห็ด และพืชอาหารและพืชสมุนไพรอื่น ๆ หรือแหล่งทรัพยากรป่าไม้บนพื้นที่สูง เป็นการเพิ่มมูลค่าของระบบการปลูกตามแนวทางการพัฒนาแบบ BCG สร้างความยั่งยืนต่ออาชีพและรายได้ของเกษตรกรบนพื้นที่สูง

C (Circular Economy) หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ ที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิตและแปรรูปกาแฟกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด การนำวัสดุมาผลิตเป็นสินค้าหรือ upcycling เฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ต่าง ๆ และสินค้าต่าง ๆ เช่น วัสดุปลูกต้นไม้ ถาดรองแก้วกาแฟ ภาชนะบรรจุต่างๆ รวมถึง ต้นแบบกระดาษกรองกาแฟ ที่ทำจากเปลือกกาแฟกะลา หรือการนำกากกาแฟที่เหลือจากการชงกาแฟนำกลับมาสกัดน้ำมัน และนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น ต้นแบบสเปรย์ระงับกลิ่นปากจากน้ำมันกากกาแฟ เป็นต้น

G (Green Economy) หรือเศรษฐกิจสีเขียว เป็นการช่วยดูแลลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยการจัดการของเสียจากกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการน้ำเสียจากกระบวนการแปรรูป และการจัดการของเหลือใช้จากเปลือกกาแฟผลสด และเปลือกกาแฟกะลามาผลิตเป็นปุ๋ยหมัก เป็นต้น นอกจากนี้ สวพส. ยังดำเนินการวิจัยแบบมีส่วนร่วมให้เกษตรกรปลูกไม้ยืนผลต้น และไม้เศรษฐกิจท้องถิ่น เช่น อาโวคาโด กล้วย มะขามป้อม หรือไม้ที่เน้นการสร้างร่มเงาถาวร เช่น ซิลเวอร์โอ๊ค ในพื้นที่สวนกาแฟแบบกลางแจ้งเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการขยายพื้นที่สีเขียว กาแฟมีการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่เหมาะสม ลดการระบาดของโรคและแมลงได้ และยังช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมบนพื้นที่สูงได้อย่างยั่งยืน 

เขียนและเรียบเรียงโดย นายสิทธิเดช ร้อยกรอง นักวิจัย และนายกฤษณะ ทองศรี เจ้าหน้าที่โครงการฯ สำนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง

เอกสารอ้างอิง

พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ 2561. กาแฟโครงการหลวง : กาแฟของพ่อ. มูลนิธิโครงการหลวง. 321 หน้า.

มงคล วรรณประเสริฐ. 2539. มวลชีวภาพเหนือพื้นดินของไม้โตเร็ว 2 ชนิด ในแปลงเกษตรป่าไม้. วารสารวนศาสตร์, 15 : 138-143.

จุฑาภรณ์ ชนะถาวร และกนกวรรณ ภูมิวณิชกิจ. 2019. ผลของเปลือกหุ้มเมล็ดกาแฟและกากกาแฟต่อสมบัติ ของ เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด. RMUTP Research Journal, 13(1), 78-89.

ติดตามข่าวสารช่องทางอื่น
Email : Chs_ratchasan@doae.go.th
เว็บไซต์ : https://chachoengsao.doae.go.th/ratchasan/
TIKTOK : https://www.tiktok.com/@kaset_ratchasan_doae
Twitter : https://twitter.com/Officia75282838
IG : https://www.instagram.com/laborerkasettambon/
facebook : https://www.facebook.com/KASETRatchasan