ลักษณะดิน และกลุ่มชุดดิน

สภาพพื้นที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว เป็นพื้นที่ราบลุ่มมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1 – 9 เมตร พื้นที่ทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตชลประทาน ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มชุดดิน ดังนี้

1. กลุ่มชุดดินที่ 3

ชุดดิน : ชุดดินฉะเชิงเทรา (Chachoengsao Series: Cc) และชุดดินบางกอก (Bangkok Series: Bk)

ลักษณะเด่น : กลุ่มดินเหนียวลึกมากที่เกิดจากตะกอนน้ำกร่อย อาจพบชั้นดินเลนของตะกอนน้ำทะเลที่ไม่มีศักยภาพก่อให้เกิดเป็นดินกรดกำมะถันภายในความลึก 150 เซนติเมตร จากผิวดิน ปฏิกิริยาดินเป็นกลางถึงเป็นด่าง การระบายน้ำเลว ความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงสูง

ปัญหา : โครงสร้างแน่นทึบ ดินแห้งแข็งและแตกระแหง ทำให้ไถพรวนยาก บางพื้นที่อาจพบชั้นดินเลนที่มีเกลือสะสมอยู่ในดินล่าง และน้ำท่วมขังในฤดูฝน ทำความเสียหายกับพืชที่ไม่ชอบน้ำ       

แนวทางการจัดการ : ปลูกข้าว ไถพรวนขณะที่ดินมีความชื้นที่เหมาะสม ไถกลบตอซัง ปล่อยไว้ 3 – 4 สัปดาห์ หรือไถกลบพืชปุ๋ยสด (หว่านโสนอัฟริกันหรือโสนอินเดีย 4 – 6 กิโลกรัม/ไร่ ไถกลบเมื่ออายุ 50 – 70 วัน ปล่อยทิ้งไว้ 1 – 2 สัปดาห์) ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำหรือปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 ใส่ปุ๋ยแต่งหน้าหลังปักดำ 35 – 40 วัน พัฒนาแหล่งน้ำไว้ใช้ในช่วงที่ข้าวขาดน้ำหรือทำนาครั้งที่ 2 หรือใช้ปลูกพืชไร่หรือพืชผักหลังเก็บเกี่ยวข้าว โดยทำร่องแบบเตี้ย ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 1 – 2 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำ

ปลูกพืชไร่ พืชผักหรือไม้ผล ยกร่องกว้าง 6 – 8 เมตร คูน้ำกว้าง 1.0 – 1.5 เมตร ลึก 0.5 – 1.0 เมตรหรือถึงชั้นดินเลน ร่องแปลงปลูกอยู่สูงจากระดับน้ำที่เคยท่วมหรือมีคันดินอัดแน่นล้อมรอบ ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 1 – 2 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำ หรือขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ปรับปรุงหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 15 – 25 กิโลกรัม/หลุม ในช่วงเจริญเติบโตก่อนเก็บผลผลิตและภายหลังเก็บผลผลิต ใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำตามชนิดพืชที่ปลูก พัฒนาแหล่งและจัดระบบการให้น้ำในแปลงปลูก

2. กลุ่มชุดดินที่ 11

 ชุดดิน : ชุดดินรังสิต (Rangsit: Rs)

ลักษณะเด่น : กลุ่มดินเปรี้ยวจัดลึกปานกลางที่เกิดจากตะกอนน้ำทะเล ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมาก การระบายน้ำเลว ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

ปัญหา : ดินเป็นกรดจัดมากหรือเป็นดินเปรี้ยวจัดลึกปานกลางในช่วงความลึก 50 – 100 เซนติเมตร จากผิวดิน เกิดการตรึงของธาตุอาหารและมีสารที่เป็นพิษต่อพืชที่ปลูก มีโครงสร้างดินแน่นทึบ ดินแห้งแข็ง และแตกระแหง ทำให้ไถพรวนยาก คุณภาพน้ำเป็นกรดจัดมากขาดแคลนแหล่งน้ำจืด และน้ำท่วมขังในฤดูฝน ทำความเสียหายกับพืชที่ไม่ชอบน้ำ

แนวทางจัดการ : ปลูกข้าว ไถพรวนดินในขณะที่ดินมีความชื้นที่เหมาะสม ลดและควบคุมความเป็นกรดรุนแรงมาก ของดินด้วยวัสดุปูน 500 – 1,000 กิโลกรัม/ไร่ โดยหว่านให้ทั่วแปลงปลูกไถกลบตอซัง ปล่อยไว้ 3 – 4 สัปดาห์ หรือไถกลบพืชปุ๋ยสด (หว่านเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด โสนอัฟริกันหรือโสนอินเดีย 4 – 6 กิโลกรัม/ไร่ ไถกลบเมื่ออายุ 50 – 70 วัน ปล่อยไว้ 1 – 2 สัปดาห์) ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำหรือปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 ใส่ปุ๋ยแต่งหน้าหลังปักดำ 35 – 45 วัน พัฒนาแหล่งน้ำและระบบการให้น้ำไว้ใช้ในช่วงที่ข้าวขาดน้ำหรือใช้ทำนาครั้งที่ 2

ปลูกพืชผักหรือไม้ผล ยกร่องกว้าง 6 – 8 เมตร คูน้ำกว้าง 1.0 – 1.5 เมตร ลึก 0.5 – 1.0 เมตร มีคันดินอัดแน่นล้อมรอบ เพื่อป้องกันน้ำท่วม ก่อนยกร่องควรแยกหน้าดินมาทับบนดินที่ขุดมาจากร่องคูน้ำ หว่านวัสดุปูน 500 – 1,000 กิโลกรัม/ไร่ ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2 – 3 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำหรือขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ปรับปรุงหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 20 – 35 กิโลกรัม/หลุม ร่วมกับวัสดุปูน 6 กิโลกรัม/หลุม ในช่วงเจริญเติบโต ก่อนเก็บผลผลิตและภายหลังเก็บผลผลิต ใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำตามชนิดพืชที่ปลูก เมื่อดินเกิดกรดเพิ่มขึ้นหว่านด้วยวัสดุปูน 500 – 1,000 กิโลกรัม/ไร่ พัฒนาแหล่งน้ำและจัดระบบการให้น้ำในแปลงปลูก เพื่อใช้ล้างความเป็นกรดของดินและควบคุมไม่ให้ดินกรดเพิ่มขึ้น

3. กลุ่มชุดดินที่ 2

ชุดดิน : ชุดดินบางน้ำเปรี้ยว (Bang Nam Priao Series: Bp)

ลักษณะเด่น : กลุ่มดินเหนียวลึกมาก ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมาก อาจพบจุดประสีเหลืองฟางข้าวของสารประกอบกำมะถันลึกกว่า 100 เซนติเมตร จากผิวดิน การระบายน้ำเลว ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง

ปัญหา : ดินเป็นกรดจัดมาก ทำให้เกิดการตรึงธาตุอาหารและปลดปล่อยสารที่เป็นพิษต่อพืช โครงสร้างแน่นทึบ ดินแห้งแข็งและแตกระแหง ทำให้ไถพรวนยาก คุณภาพน้ำเป็นกรดจัดมาก ขาดแคลนแหล่งน้ำจืด และน้ำท่วมขังในฤดูฝน ทำความเสียหายกับพืชที่ไม่ชอบน้ำ                

แนวทางการจัดการ : ปลูกข้าว ไถพรวนขณะที่ดินมีความชื้นที่เหมาะสม ลดและควบคุมความเป็นกรดจัดมากของดินด้วยวัสดุปูน 500 กิโลกรัม/ไร่ หว่านให้ทั่วแปลงปลูก ไถกลบตอซัง ปล่อยไว้ 3 – 4 สัปดาห์ หรือไถกลบพืชปุ๋ยสด (หว่านโสนอัฟริกัน        หรือโสนอินเดีย 4 – 6 กิโลกรัม/ไร่ ไถกลบเมื่ออายุ 50 – 70 วัน ปล่อยทิ้งไว้ 1 – 2 สัปดาห์) ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำหรือปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 ใส่ปุ๋ยแต่งหน้าหลังปักดำ 35 – 40 วัน พัฒนาแหล่งน้ำไว้ใช้ในช่วงที่ข้าวขาดน้ำหรือทำนาครั้งที่ 2 หรือใช้ปลูกพืชไร่หรือพืชผักหลังเก็บเกี่ยวข้าว ไถกลบตอซังและทำร่องแบบเตี้ย ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2 – 3 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำ

ปลูกพืชผักหรือไม้ผล: ยกร่องกว้าง 6 – 8 เมตร คูน้ำกว้าง 1.0 – 1.5 เมตร ลึก 0.5 – 1.0 เมตร มีคันดินอัดแน่นล้อมรอบ ก่อนยกร่องควรแยกหน้าดินมาทับบนดินที่ขุดมาจากร่องคูน้ำ หว่านวัสดุปูน 500 กิโลกรัม/ไร่ บนสันร่องและร่องคูน้ำ ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2 – 3 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำหรือขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ปรับปรุงหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 20 – 35 กิโลกรัม/หลุม ร่วมกับวัสดุปูน 5 กิโลกรัม/หลุม ในช่วงเจริญเติบโต ก่อนเก็บผลผลิตและหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำตามชนิดพืชที่ปลูก พัฒนาแหล่งน้ำและจัดระบบการให้น้ำในแปลงปลูก ไว้ใช้ในช่วงที่พืชขาดน้ำ ล้างและควบคุมไม่ให้ดินเกิดกรดเพิ่มขึ้น เมื่อดินเป็นกรดเพิ่มขึ้น หว่านด้วยวัสดุปูน 500 กิโลกรัม/ไร่

ชุดดินส่วนใหญ่ของอำเภอบางน้ำเปรี้ยว คือ ชุดดินที่ 2 (Bp) ชุดดินที่ 3 (Cc)(Bk) และชุดดินที่ 11 (Rs)(RS-a)

กลุ่มชุดดินของอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา

ที่มา: กรมพัฒนาที่ดิน, 2563.